K-Me Article


ของแข็ง ของเหลว แก๊ส (ตอนที่ 2) สมบัติของของแข็ง

สมบัติของของแข็ง
       ของแข็ง    หมายถึง สารที่อนุภาคมีพลังงานจลน์ต่ำ  ไม่เคลื่อนที่ไปมาแต่มีการสั่นสะเทือนได้โดยเป็นการสั่นสะเทือนอยู่ ณ ที่เดิม จึงทำให้ของแข็งมีรูปร่างหรือรูปทรงและปริมาตรของคงที่  ไม่เปลี่ยนไปตามรูปร่างของภาชนะที่บรรจุ      อนุภาคอยู่ใกล้ชิดกันมากจึงมีที่ว่างน้อยจึงไม่สามารถบีบอัดของแข็งให้มัปริมาตรลดลงได้   มีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคมาก   เมื่อพิจารณาของแข็งจากรูปผลึก จะจำแนกได้ 2 ชนิด คือ

  1.  ของแข็งที่ไม่มีรูปผลึก (amorphous solids)  เช่น แก้ว ยาง พลาสติก  ของแข็งประเภทนี้จะมีจุดหลอมเหลวที่ไม่ชัดเจนเนื่องจากแรงดึงดูดระหว่างอนุภาคจะไม่สม่ำเสมอกัน  การจัดเรียงอนุภาคไม่มีระเบียบที่แน่นอน  จึงไม่เกิดรูปผลึกเฉพาะตัว  เช่น  ขี้ผึ้ง  แก้ว            
  2. ของแข็งที่มีรูปผลึก (crystalline solids) ของแข็งชนิดนี้มีการจัดเรียงของอนุภาคเป็นระเบียบ   จึงมีผลึกรูปทรงเรขาคณิตที่แน่นอน  แต่อาจแตกต่างกันไปตามชนิดของสาร สารประเภทนี้มีจุดหลอมเหลวคงที่เพราะแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคสม่ำเสมอกันทั่วทั้งสาร  เช่น ควอตซ์

    
    

การจัดเรียงอนุภาคของของแข็ง

                 ธาตุบางชนิดมีการจัดเรียงตัวของอะตอมในโครงสร้างโมเลกุลได้หลายแบบ  จึงมีรูปผลึกต่างกันเรียกว่าอัญรูปหรือรูป (allotrope)  เช่น กำมะถันมีโครงสร้างผลึก  2 แบบ  คือรอมบิก (rhombic) และมอนอคลินิก(monoclinic) โครงสร้างดังกล่าวนี้สามารถเปลี่ยนจากแบบหนึ่งไปอีกแบบหนึ่งได้ที่อุณหภูมิ และความดันค่าหนึ่ง เรียกภาวะนี้ว่า จุดแทรนซิชัน (transition point)  กำมะถันชนิดรอมบิกและมอนอคลินิกมีลักษณะดังรูป

    

                          กำมะถันรอมบิก                                                                               กำมะถันมอนอคลีนิค

                โครงสร้างของกำมะถันแบบรอมบิกประกอบด้วยอะตอมของกำมะถัน  8  อะตอม  (S8)  ดังรูป

    

                ขณะที่อุณหภูมิต่ำกำมะถันจะอยู่ในรูปรอมบิก ถ้ามองจากด้านข้างจะมีรูปทรงคล้ายมงกุฎ (clown form  รูปขวา )  ถ้ามองจากด้านบนจะเห็นเป็นรูป  8  เหลี่ยม    โดยมีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยซัลเฟอร์  8  อะตอม
(  S8 ) เหมือนกัน  แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจะเปลี่ยนรูปเป็นมอนอคลินิก  มีลักษณะเป็นผลึกรูปเข็ม  แต่ถ้าให้ความร้อนสูงขึ้นอีกพันธะจะเกิดการแยกสลาย  กลายเป็นโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นสาย (chain)  ไม่มีรูปผลึก จากนั้นแต่ละสายอาจเกาะเกี่ยวพันกันทำให้ข้น  หนืด  คล้ายพลาสติก  จึงเรียกว่ากำมะถันพลาสติก  ดังรูป


    

       ถ้าความร้อนสูงมากสายของโมเลกุลอาจจะขาดออกเป็นช่วงสั้น ๆ  ทำให้ระเหยเป็นไอได้ง่ายขึ้น  ไอของกำมะถันจะประกอบด้วยโมเลกุลของ S8 ,S4 , S2  ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

    

                 จุดแทรนซิชันของกำมะถันอยู่ที่อุณหภูมิ  96   oC  ดังรูป


    
ฟอสฟอรัสเป็นอีกธาตุหนึ่งที่มีหลายอัญรูปหรือหลายรูป  ที่สำคัญมี  4  ชนิด คือ ฟอสฟอรัสขาว,ฟอสฟอรัสแดง  ฟอสฟอรัสดำ  และฟอสฟอรัสม่วง  ดังรูป

    

                  ฟอสฟอรัสขาว  มีลักษณะนิ่มคล้ายขี้ผึ้งสีขาวมีสูตรโมเลกุลเป็น   P4  รูปร่างเป็นทรงสี่หน้าแต่ไม่มีอะตอมกลาง  มีแรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลอย่างอ่อนทำให้มีจุดหลอมเหลวต่ำและระเหยง่าย  แม้ที่อุณหภูมิห้อง  มีความเป็นพิษสูง และถูกออกซิไดซ์โดยออกซิเจนในอากาศได้ง่าย  ทำให้เกิดการติดไฟลุกไหม้ได้เอง   ที่อุณหภูมิห้อง  40 - 45 oC   เกิดสารประกอบออกไซด์  P4O10 ขึ้นมา  โดยทั่วไปจะไปเก็บรักษาโดยการแช่ไว้ในน้ำ  ฟอสฟอรัสไม่ละลายน้ำแต่ละลายใน   CS2 , C6H6  หรือตัวทำละลายอินทรีย์อื่น ๆ


    

            P4  (ฟอสฟอรัสขาว)                                               P4O10 (ออกไซด์ของฟอสฟอรัส)        

                 ฟอสฟอรัสแดง  คือ พอลิเมอร์ของฟอสฟอรัสขาว เกิดจากการนำฟอสฟอรัสขาวมาเผาหรือทิ้งไว้นานๆทำให้  P4 สร้างพันธะเชื่อมต่อกันเป็นสายโซ่   มีลักษณะเป็นผงสีแดงแก่ ไม่ละลายใน CS2 หรือตัวทำละลายอินทรีย์ใด ๆไม่ระเหย ไม่เป็นพิษและไม่ว่องไวต่อปฏิกิริยาไม่สามารถลุกไหม้ได้เองที่อุณหภูมิต่ำกว่า 240 oC   สามารถระเหิดได้ที่อุณหภูมิประมาณ  420 oC  มีโครงสร้างแบบโครงตาข่าย   ใช้ทำผิวกล่องไม้ขีดไฟ

    

                                                          ฟอสฟอรัสแดง

                  ฟอสฟอรัสดำ  มีโครงร้างและสมบัติคล้ายแกรไฟต์ คือ เป็นของแข็งสีเทาแก่มีเงาคล้ายโลหะ  เป็นแผ่นสามารถนำไฟฟ้าและความร้อนได้ โครงสร้างเป็นแผ่นๆ คล้ายแกรไฟต์ อะตอมของฟอสฟอรัสในชั้นเดียวกันต่อกันด้วยพันธะโคเวเลนต์   แต่ชั้นของฟอสฟอรัสดำไม่แบนราบมีการหยักขึ้นลงต่างจากแกรไฟต์ที่แบนราบ   ฟอสฟอรัสดำเป็นอัญรูปที่เสถียรที่สุดของฟอสฟอรัส   การเตรียมฟอสฟอรัสดำทำได้โดยนำฟอสฟอรัสขาวมาให้ความร้อน  โดยใช้อุณหภูมิสูงเกิน 450 oC   หรือทิ้งไว้นานๆ สามารถเปลี่ยนเป็นฟอสฟอรัสดำได้เอง


    

                                                                 ฟอสฟอรัสดำ

                ฟอสฟอรัสม่วง (violet phosphorus,  Hittorf's Metallic Phosphorus)   เกิดจากการนำฟอสฟอรัสแดงไปให้ความร้อน  550 oC ขึ้นไปเป็นเวลา  1-2  สัปดาห์  ทำให้อะตอมเกิดการจัดเรียงตัวกันใหม่กลายเป็นฟอสฟอรัสม่วง  มีโครงสร้างดังรูป

    

                การเปลี่ยนรูปของฟอสฟอรัสเป็นดังแผนภาพต่อไปนี้

    
  • 1 บาร์ 0.98692   บรรยากาศ (atm)

ออกซิเจนมี  2  รูป  คือ  O2 (แก๊สออกซิเจน)  และ O3 (แก๊สโอโซน)

    
คาร์บอนมีรูปที่สำคัญคือ  ถ่าน  แกรไฟต์  เพชร  ฟุลเลอรีน

    

(คลิ้กชมโครงสร้างของแกรไฟต์) 
(คลิ้กชมโครงสร้างของฟุลเลอรีน)
(คลิกชมโครงสร้างของแกรไฟต์และเพชร)

ชนิดของผลึก

ของแข็งที่อยู่ในรูปผลึกมีการจัดเรียงอนุภาคภายในอย่างมีระเบียบในสามมิติ   มีโครงสร้างทางเรขาคณิตที่แน่นอน  แต่ละอนุภาคยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงชนิดต่าง ๆ  อย่างสม่ำเสมอของแข็งบริสุทธิ์จึงมีจุดหลอมเหลวเฉพาะตัวและคงที่   ถ้าใช้แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคภายในผลึกเป็นเกณฑ์ สามารถจำแนกประเภทของผลึกได้ 4 ประเภท ดังนี้

1. ผลึกโมเลกุล (Molecular crystal)

                ประกอบด้วยโมเลกุลซึ่งยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงแวนเดอร์วาลส์ และหรือพันธะไฮโดรเจน  ถ้าเป็นผลึกของโมเลกุลที่ไม่มีขั้ว   แรงยึดเหนี่ยวระหว่างโมเลกุลจะเป็นแรงแวนเดอร์วาลส์ประเภทแรงลอนดอน เช่น แนพทาลีน   น้ำแข็งแห้ง   ถ้าเป็นของแข็งที่โมเลกุลมีขั้วจะยึดเหนี่ยวด้วยแรงดึงดูดระหว่างขั้ว หรือพันธะไฮโดรเจน เช่น น้ำแข็ง  แอมโมเนียแข็ง   ของแข็งที่เป็นผลึกโมเลกุลส่วนใหญ่จะมีลักษณะค่อนข้างอ่อนหรือแข็งปานกลาง   มีจุดหลอมเหลวต่ำ   ไม่นำไฟฟ้า   ผลึกของโมเลกุลไม่มีขั้วบางชนิดระเหิดได้ง่าย เช่น แนพทาลีน

      

                                                                            ผลึกน้ำแข็ง

             

                                       โครงสร้างของผลึกน้้ำแข็ง

2.   ผลึกโคเวเลนต์ร่างตาข่าย (Network covalent crystal)

   ประกอบด้วยอะตอมที่ยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะโคเวเลนต์ เช่น แกรไฟต์  เพชร ซึ่งมีอะตอมของคาร์บอนสร้างพันธะโคเวเลนต์กับอะตอมของคาร์บอนอื่นอีก 3 อะตอม และ 4 อะตอมตามลำดับเป็นสารที่มีโครงผลึกร่างตาข่าย ของแข็งประเภทนี้มีจุดหลอมเหลวสูง มีความแข็ง แต่ความแข็งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับการจัดเรียงอะตอมในโครงผลึกร่างตาข่าย                

    

                                                  โครงสร้างของแกรไฟต์

    
                                                        โครงสร้างของเพชร

3.   ผลึกโลหะ (Metalic crystal)

ประกอบด้วยอะตอมของโลหะ  ยึดเหนี่ยวกันด้วยพันธะโลหะซึ่งแข็งแรงมาก ของแข็งประเภทนี้ส่วนใหญ่มีความแข็งและเหนียว สามารถตีเป็นแผ่น บิดงอได้ เป็นตัวนำความร้อนและไฟฟ้าที่ดี แต่อย่างไรก็ตามผลึกโลหะบางชนิดอาจมีสมบัติไม่สอดคล้องตามที่กล่าวแล้ว เช่น ตะกั่วนำไฟฟ้าได้ไม่ดี   ของแข็งประเภทนี้ส่วนใหญ่จะมีจุดหลอมเหลว ค่อนข้างสูงและแตกต่างกันไปตามความแข็งแรงของพันธะโลหะ   แต่ก็มีผลึกโลหะบางชนิดที่มีลักษณะค่อนข้างอ่อน   มีจุดเดือดและจุดหลอมเหลวต่ำ เช่น   โลหะหมู่ IA และ IIA

     

    โลหะแต่ละชนิดจะมีรูปผลึกเฉพาะตัวต่าง ๆ กันไป  เช่น

     

4.   ผลึกไอออนิก (Ionic crystal)

ประกอบด้วยไอออนบวกและไอออนลบที่มีขนาดไอออนแตกต่างกัน และยึดเหนี่ยวกันด้วยแรงดึงดูดระหว่างประจุไฟฟ้า ของแข็งประเภทนี้จึงมีลักษณะแข็งแต่เปราะ  มีจุดหลอมเหลวและจุดเดือดสูง เมื่อเป็นของแข็งจะไม่นำไฟฟ้า   แต่จะนำไฟฟ้าได้เมื่อหลอมเหลวหรือเป็นสารละลาย เช่น ผลึก NaCl มีโครงสร้างดังรูป

                          

(คลิ้กชม สมบัติของแข็งและตอบคำถาม )


การเปลี่ยนสถานะของของแข็ง

                เมื่อของแข็งได้รับความร้อนจะทำให้อนุภาคของของแข็งมีพลังงานมากขึ้น  เมื่ออนุภาคมีพลังงานมากกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค  ของแข็งก็จะเกิดการเปลี่ยนสถานะ  โดยเป็นไปได้  2  แบบ  คือการหลอมเหลว (melt) กับการระเหิด (sublimation)

การหลอมเหลว (melt)

เมื่อให้ความร้อนแก่ของแข็ง อนุภาคของของแข็งจะมีพลังงานจลน์เพิ่มขึ้น ทำให้อนุภาคมีการสั่นมากขึ้น และมีการถ่ายโอนพลังงานให้แก่อนุภาคข้างเคียงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งบางอนุภาคมีพลังงานสูงกว่าแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาค   อนุภาคดังกล่าวจะเคลื่อนที่ได้   อนุภาคที่เคลื่อนที่เป็นปรากฏการณ์ของการหลอมเหลว (melting) เรียกอุณหภูมิในขณะที่ของแข็งกำลังของเหลวว่า จุดหลอมเหลว (melting point)   ขณะที่ของแข็งยังหลอมเหลวไม่หมดอุณหภูมิจะคงที่อยู่ ณ จุดหลอมเหลว (จุดเยือกแข็ง)  ของสารนั้น  ที่เป็นดังนี้เป็นเพราะในขณะนั้นจะมีสารอยู่ทั้ง  2  สถานะพร้อมกันคือส่วนที่เป็นของแข็งที่ยังหลอมเหลวไม่หมด  กับส่วนที่เป็นของเหลวแล้ว  ในภาวะนี้ทั้ง  2  สถานะมีอุณหภูมิเท่ากัน   แต่พลังงานจลน์ไม่เท่ากัน  ส่วนที่เป็นของแข็งมีพลังงานจลน์ต่ำกว่าส่วนที่เป็นของเหลว  การให้ความร้อนในช่วงนี้อุณหภูมิจะไม่เพิ่มขึ้น  เพราะธรรมชาติของความร้อนจะเดินทางไปยังบริเวณที่มีพลังงานต่ำ   ฉะนั้นแม้ว่าระบบจะยังคงได้รับความร้อน  ความร้อนจะเข้าไปสู่ส่วนของของแข็งที่ยังหลอมเหลวไม่หมดเพราะเป็นส่วนที่มีพลังงานต่ำกว่า  ทำให้เกิดการหลอมเหลวไปเรื่อย ๆ  จนกว่าจะหลอมเหลวหมด  จากนั้นถ้าระบบยังคงได้รับความร้อนอย่างต่อเนื่อง    ความร้อนเดินทางเข้าไปในของเหลวที่เพิ่งผ่านการหลอมเหลวมาใหม่ ๆ และยังมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิ ณ จุดหลอมเหลว (จุดเยือกแข็ง)  ดังกล่าวมาแล้ว  ทำให้ของเหลวมีอุณหภูมิสูงขึ้น  ถ้ามีปริมาณความร้อนเพียงพออุณหภูมิก็จะสูงขึ้นไปจนถึงจุดเดือดของของเหลวนั้น  ถ้าดูในแผนผังวัฏภาคก็คือจุดใดจุดหนึ่งบนเส้นแบ่งเขตวัฏภาคระหว่างของแข็งกับของเหลว   เรียกปริมาณความร้อนที่ใช้ในการหลอมเหลวของสารต่าง ๆ ว่าความร้อนแฝงของการหลอมเหลว  (Latent Heat Melting , Latent Heat Fusion)  มีหน่วยเป็น  cal/g  หรือ Jule/g  สารแต่ละชนิดมีค่าความร้อนดังกล่าวนี้เฉพาะตัว  เช่น  ความร้อนแฝงของการหลอมเหลวของน้ำแข็ง = 80 cal/gหรือ   336 Jule/g  ของแข็งที่มีค่าความร้อนแฝงของการหลอมเหลวสูงแสดงว่ามีแรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคมาก  จึงทำให้มีจุดหลอมเหลวสูง

การคิดคำนวณเกี่ยวกับปริมาณความร้อน  คิดจากสมการ  ;  Q =  mL

กำหนดให้  ;    Q =  ปริมาณความร้อน
                                      m  =  มวลของสาร (กรัม)
                                      L  =  ความร้อนแฝงของการหลอมเหลว (แคลอรี/กรัม หรือ จูล/กรัม  )

                                                                                            (คลิ้กชม แสดงการเปลี่ยนสถานะของสาร)

ตัวอย่าง  ความร้อนแฝงของการหลอมเหลวและจุดหลอมเหลวของสารบางชนิด

Substance

Latent Heat
Fusion
kJ/kg

Melting
Point
°C

Alcohol, ethyl

108

114

Ammonia

339

75

Carbon dioxide

184

78

Hydrogen(2)

58

259

Lead

24.5

327.5

Nitrogen

25.7

210

Oxygen

13.9

219

Toluene

72.1

93

Water

334

0

                                                                       (คลิ้กชมแสดงความร้อนแฝงของการหลอมเหลวและการกลายเป็นไอ)


การระเหิด (Sublimation)

          การระเหิดเป็นการเปลี่ยนสถานะจากของแข็งกลายเป็นไอโดยไม่ต้องผ่านการเป็นของเหลว  การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดได้กับของแข็งบางชนิดที่โมเลกุลไม่มีขั้วหรือมีขั้วน้อยมาก  แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอนุภาคจึงเป็นแรงแวนเดอร์วาลส์ (Van der Waals forces) อย่างอ่อน เช่น แรงลอนดอน (London forces) เมื่ออนุภาคของสารได้รับความร้อนจากสิ่งแวดล้อมเพียงเล็กน้อย   จะทำให้อนุภาคที่อยู่บริเวณผิวหน้าของผลึกแยกตัวออกจากผลึก   กลายเป็นไอโดยไม่มีการหลอมเหลว  เช่น การระเหิดของไอโอดีน การระเหิดของแนพทาลีน การบูร เมนทอล เป็นต้น


                                                                                                    (คลิ้กชมการเปลี่ยนสถานะทำแบบฝึกหัด)


                                        

รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 30.72 KBs
Upload : 2014-02-10 05:42:19
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


K-Me
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
วิทยาศาสตร์


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.817674 sec.