krusunsanee Article


ในหลวงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                               ในหลวงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 

             ความสำคัญ    ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เมื่อกล่าวถึง “ทรัพยากร” เรามักคุ้นเคยกับสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ แหล่งน้ำ สิ่งดังกล่าวเรามองไม่เห็นได้ชัดเจนว่า“มีค่า” เกิดประโยชน์และเป็นสิ่งจำเป็นที่ก่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ในขณะเดียวกัน ถ้าเราพูดถึง “คน” มักจะมองไม่เห็นว่าเป็นทรัพยากรหรือมองเห็น “คุณค่า” ความจริงแล้ว “คน” คือศักยภาพสูงสุดและเป็นทรัพยากรที่สำคัญ
               1.ทำไมต้องมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์     ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจของโลกมีพลวัตสูง ความเจริญทางเทคโนโลยี เป็นส่วนหนึ่งในความ
จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นการเตรียมคนเพื่อให้พร้อมในความเจริญที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หลักสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คือ จะต้องให้ความรู้และประสบการณ์ด้านวิชาการ การฝึกอบรมความรู้ที่ทันสมัยรวมทั้งการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมควบคู่กันไป เช่น การให้คนมีความรู้ จะต้องฝึกให้มีวินัยในการทำงานควบคู่กันไปด้วย
             2.การพัฒนาคุณภาพชีวิต การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นการสร้างรากฐานของระดับการดำรงชีวิตของคนให้ดีขึ้น โดยการให้ความรู้ การฝึกด้านคุณธรรม
การส่งเสริมสุขภาพอนามัยการประกอบอาชีพ รวมกันอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข ในประเทศไทยได้มีการสร้างเกณฑ์มาตรฐานของคุณภาพชีวิต เป้าหมายหลักในการ “พัฒนาคุณภาพชีวิต” คือการให้มีความสามารถในการ “พึ่งพาตนเอง”
           3. แนวทางการพัฒนาตนเอง มีดังนี้
                 ก.) การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา จุดเริ่มต้นของการพัฒนาคุณภาพชีวิต คือเริ่มจากการพัฒนา “ตนเอง” ซึ่งเป็นหน่วยย่อยของสังคม การพัฒนาตนตามแนวพุทธศาสนา ได้มีการวิเคราะห์พฤติกรรม (การกระทำของคน) ไว้ในสองลักษณะ คือ 2
                      ลักษณะที่ 1 พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์ เกิดจากการไม่รู้หรืออวิชาตัณหา เช่น ความโลภอยากได้ของคนอื่นเกิดการลักขโมย เป็นพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์
                      ลักษณะที่ 2 พฤติกรรมสลายทุกข์ (การแก้ปัญหา) เมื่อคนเราเกิดความทุกข์จะก่อให้เกิดพฤติกรรมในการแก้ปัญหาคือสร้างปัญญา และฉันทะ เพื่อให้เกิดการศึกษา รู้วิธีการในการแก้ปัญหาจากพฤติกรรมดังกล่าว แนวพุทธศาสนาจึงได้กำหนดแนวทางในการพัฒนาตนไว้ดังนี้
                         ขั้นที่ 1 นำสู่สิกขา คือ ขั้นของการฝึกฝนตนเองในการศึกษา การฝึกฝนให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นรากฐานของการฝึกและพัฒนาตนเอง ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย 2 อย่าง คือปัจจัยภายนอก (ปรโตโฆษะ) คือ การกลั่นกรองรับเอาคำอบรมสั่งสอนจากพ่อ แม่ พี่ น้อง สื่อมวลชนต่าง ๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานในการรับเอาความรู้ สังคม และวัฒนธรรมที่ดีในการพัฒนาตนเองต่อไปปัจจัยภายใน (โยนิโสมนสิการ) คือ การรู้จักเลือกปฏิบัติ เลือกหากัลยาณมิตร ซึ่งคนมองเห็นประโยชน์และสามารถตีคุณค่าได้ ซึ่งจะต้องมีการฝึกฝน ตามองค์ประกอบด้านการมีสติพื้นฐานเป็นผู้มีศีล มีระเบียบ วินัย เป็นผู้มีแรงจูงใจใฝ่สร้างสรรค์ เป็นผู้มีความเป็นมนุษย์อย่างสมบูรณ์ เป็นผู้มีความเชื่อในหลักเหตุผลมีความกระตือรือร้นและการเป็นผู้มีวิจารณญาณหาเหตุผลรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบ
                     ขั้นที่ 2 ไตรสิกขา เป็นขั้นการพัฒนาคนอย่างสมบูรณ์แบบ และในขั้นนี้ต้องมีการศึกษาเรื่องศักยภาพของมนุษย์ หลักสำคัญในการพัฒนามนุษย์ในขั้นนี้คือ
                            1) ศีล เป็นการฝึกพฤติกรรม โดยมีวินัยเป็นเครื่องมือในการฝึก 
                            2) สมาธิ เป็นการฝึกด้านจิต ฝึกด้านคุณธรรม ความมีจิตเมตตา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
                           3) ปัญญา เป็นการฝึกในด้านการรู้ การพิจารณา การไตร่ตรองหาเหตุผล
               ข.)การพัฒนาตนโดยเสริมสร้างค่านิยมที่เหมาะสม ในขณะที่สังคมโลกกำลังมีการเปลี่ยนแปลงสังคมของชุมชนกำลังได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยีสมัยใหม่ การที่จะพัฒนาตนเอง ให้เกิดความสมดุล สามารถปรับตนเองให้มีชีวิตเป็นสุขนั้น ควรจะเริ่มสร้างค่านิยมที่เหมาะสมดังนี้ การพึ่งตนเองการขยันหมั่นเพียรและมีความรับผิดชอบ เป็นการฝึกตนเองในความรับผิดชอบ การใช้จ่ายของตนเองและครอบครัว การหารายได้ที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการพึ่งผู้อื่น การประหยัดและอดออม เป็นการฝึกฝนตนเองเรื่องการใช้จ่ายที่เหมาะสมกับฐานะ การมีระเบียบวินัย และการเคารพกฎหมาย เป็นการฝึกฝนตนเองในการเคารพกฎ และกติกา ไม่ละเว้นปฏิบัติตามกฎระเบียบเพื่อให้ตนเองสบาย การปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา หลักศาสนามุ่งให้ทุกคนทำความดี มีความเมตตากรุณาในแก่นแท้ของศาสนา คือการให้ทุกคนรู้จักวิเคราะห์วิจารณญาณ เพื่อให้เข้าใจวิถีและธรรมชาติของชีวิต ความรักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ชาติหมายถึง กลุ่มชนที่มีเชื้อชาติ ศาสนา และ วัฒนธรรมเดียวกันมาอยู่รวมกันชาติจึงเป็นสมบัติส่วนรวมที่ทุกคนต้องรักและหวงแหนการรวมกันเป็นชาติการเลือกนับถือศาสนา การเคารพในสถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นค่านิยมที่ควรเสริมสร้างการพัฒนาครอบครัว การพัฒนาในระดับที่กว้างไปจากการพัฒนาตนเอง คือ การพัฒนาครอบครัว ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเรื่องต่อไปนี้
                 1. แบบของครอบครัวในปัจจุบัน จากการศึกษาของนักสังคมวิทยาเห็นว่าแบบของครอบครัวไทยทั่วประเทศเป็นครอบครัวพื้นฐาน หรือครอบครัว “เนื้อแท้” ลักษณะของครอบครัวจะประกอบด้วยบุคคลสำคัญที่เป็นสมาชิกในครอบครัว คือ พ่อ แม่ และลูก ๆ ในบางครอบครัวอาจมีญาติพี่น้องมาอยู่ด้วยอีกลักษณะหนึ่ง คือ ครอบครัว “แบบชั่วคราว” จะเป็นครอบครัวที่อยู่ในภาคอีสานคือ มีการขยายครอบครัวออกไปหลังจากแต่งงานแล้ว จะแยกครอบครัวออกไป มีการแบ่งมรดก ที่ดิน ให้เป็นสัดส่วน และต่อมาครอบครัวที่ขยายจะเป็นครอบครัว “เนื้อแท้”
                 2. การทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจของครอบครัว แบบของครอบครัวส่วนใหญ่เป็นครอบครัวเนื้อแท้ ดังนั้นภาระหน้าที่ทางเศรษฐกิจของสมาชิกในครอบครัว จึงเป็นของพ่อแม่ ปัจจุบันครอบครัวจึงเป็นสถาบันทางสังคมที่ทำหน้าที่ทางเศรษฐกิจ แสวงหารายได้ทรัพย์สินมาสนองความต้องการของสมาชิกในครอบครัว เพื่อการบริโภคและอุปโภคต่าง ๆ จากสภาพดังกล่าวเป็นสาเหตุโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว คือความรักความห่วงใย การเลี้ยงดูที่เหมาะสมเพียงพอ จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ของพ่อแม่
                3. ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัว ความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก ๆ มีความสัมพันธ์สูง การสร้างความสัมพันธ์ ของครอบครัว เป็นหลักสำคัญของความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ลักษณะของความสัมพันธ์ในครอบครัว มีดังนี้
                        ก.) การเลี้ยงดู การเลี้ยงดู มองเป็น 2 ด้าน
                               คือ ในด้านการพัฒนาทางร่างกาย และการพัฒนาทางด้านจิตใจ ในทางร่างกาย สติปัญญา พ่อ แม่ ต้องมีการเลี้ยงดูที่ถูกโภชนาการ การดูแลรักษาสุขภาพอนามัยจะทำให้ลูก มีการเจริญวัยได้เต็มที่ ตามอัตราของการเจริญทางร่างกาย และสติปัญญา .ส่วนการพัฒนาด้านจิตใจเป็นเรื่องสำคัญมาก การให้ความรัก ความอบอุ่นเป็นพฤติกรรมของพ่อแม่ที่จะมีผลกระทบ ต่อการพัฒนาจิตใจของลูก ลูกจะเกิดความมั่นคง มีจิตใจร่าเริงแจ่มใส 
                 4 พลังด้านจิตใจเป็นเลิศ การกระทำของ พ่อแม่นั้นเป็นสิ่งที่จะต้องปฏิบัติ เพื่อให้เกิดผลทางพัฒนาด้านจิตใจ
                       ข.)การถ่ายทอดวัฒนธรรม มนุษย์เป็นสัตว์ที่ประเสริฐ มีความสามารถในการรับรู้ในการ เรียนรู้ เป็นอย่างดี การเรียนรู้วัฒนธรรมของแต่ละ ครอบครัวลูกจะเริ่ม รับรู้ตั้งแต่เยาว์วัยเป็นไปโดยอัตโนมัติเป็นการรับรู้และการถ่ายทอด ที่ไม่สามารถ สังเกตได้ ลูกจะปฏิบัติตามวัฒนธรรมของพ่อแม่ได้อย่างเป็นธรรมชาติ เช่น วัฒนธรรมการเคารพผู้สูงอายุ วัฒนธรรมการ แต่งกาย วัฒนธรรมในการกิน 
                        ค.)ศูนย์รวมแห่งความรักความอบอุ่น ครอบครัวเป็นศูนย์รวมแห่งความรัก ความอบอุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครอบครัวไทยที่เป็นครอบครัว“พื้นฐาน” สมาชิกในครอบครัว พ่อ แม่ ลูก จะมีความรู้สึกว่า ครอบครัวเป็นศูนย์รวมของความรัก ความอบอุ่น และความ มั่นคงพฤติกรรมของสมาชิกของครอบครัว
                      ง.)การปลูกฝังวัฒนธรรมประชาธิปไตย หน้าที่ของครอบครัว 
       สมาชิกในครอบครัว เป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการเป็นประชาธิปไตย สมาชิก ในครอบครัวรู้จักบทบาทหน้าที่และการปฏิบัติต่อกัน การแบ่งความรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่ง ซึ่งจะปลูกฝัง วัฒนธรรมของประชาธิปไตย ที่เริ่มต้นที่ครอบครัว การพัฒนาความสัมพันธ์ทางสังคม 
                   การพัฒนาความสัมพันธ์เริ่มจากจุดเล็ก คือตนเอง จากตนเองไปสู่ความสัมพันธ์ในครอบครัวกว้างออกไปอีก คือสังคม ชุมชน สังคมโลก พฤติกรรมการสร้างความสัมพันธ์เป็น “ธรรมชาติ” ของมนุษย์
              1.การจัดระเบียบสังคม การจัดระเบียบทางสังคม” เป็นการจัดให้สังคมมีระเบียบระบบ เพื่อเป็นการวางแบบแผนของ พฤติกรรม และกระบวนความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคน ปัจจัยที่ก่อให้เกิดระเบียบในสังคม และคนอยู่ร่วมกันอย่างมั่นคงถาวร ประกอบด้วย
                       1.1 วิถีชาวบ้าน (Folkways) ป็นบรรทัดฐานที่คนในสังคมควรปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติจะถูกตำหนิ เช่น การเคารพนอบน้อมต่อผู้ใหญ่ การบวชเพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา
                      1.2 จารีต (Mores) เป็นพฤติกรรมที่ทุกคนต้องทำ เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีความเข้มกว่าวิถีชาวบ้าน หากไม่ปฏิบัติ จะได้รับการตำหนิอย่างรุนแรง เช่น ประเพณีการแต่งงานจะต้องทำตามจารีตประเพณี 
                     1.3 กฎหมาย (Laws) เป็นกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ระเบียบ กติกาที่กำหนดขึ้นให้คนปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติหรืองดไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษตามบทบัญญัติ
           2.การพัฒนาค่านิยม ทัศนคติและความเชื่อ การพัฒนา หมายถึงการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง หรือสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้ดีกว่าของเดิม มุมมองด้านการพัฒนาค่านิยมทางสังคมเป็นเรื่องของการปรับปรุงแนวคิดของบุคคล กลุ่มคนที่มีต่อสังคม โดยแนวคิดมีผลต่อสังคม และการปฏิบัติตนที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ผลจากการพัฒนานวัตกรรม และเทคโนโลยี ทำให้คนมีการพัฒนาค่านิยม คือการปรับปรุงพฤติกรรมให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพการณ์ของสังคม
                      ก.) ค่านิยม คือสิ่งที่กลุ่มคนหรือสังคมใดสังคมหนึ่ง เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีค่าถูกต้องและน่ากระทำ ตัวอย่าง ค่านิยมที่ปลูกฝังให้เยาวชนไทย คือการรู้จักพึ่งตนเอง ขยันหมั่นเพียร รับผิดชอบการประหยัด อดออม การมีระเบียบวินัย เคารพกฎหมายการปฏิบัติตามคุณธรรมของศาสนา ความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
                    ข.) ทัศนคติและความเชื่อ เป็นความคิดของคนที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น ทัศนคติของกลุ่มคนที่มีต่อพิธีกรรม ทัศนคติของบุคคลที่มีต่อการกิน ส่วนความเชื่อจะมุ่งเน้นไปในด้านของศาสนา ความเชื่อ หรือ ความคิดที่มีต่อหลักคำสอน ความเชื่อในเรื่องบาปบุญคุณโทษ
              3. การพัฒนาวัฒนธรรมที่เหมาะสม วัฒนธรรม คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น กำหนดขึ้น ไม่ใช่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือมนุษย์ทำตามสัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่เกี่ยวกับการประดิษฐ์ วัตถุขึ้นใช้หรือกำหนดพฤติกรรมหรือความคิด ตลอดจนวิธีการหรือระบบการทำงาน วัฒนธรรมที่เหมาะสมในสังคมไทยที่ควรจะส่งเสริมและพัฒนา เช่นวัฒนธรรมในการเคารพ การกราบไหว้ วัฒนธรรมในการรับประทานอาหารวัฒนธรรมในการสร้างความสามัคคี เช่น การลงแขก ทั้งนี้อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพ และสถานการณ์ของสังคมที่กำลังเจริญก้าวหน้า
             4. ความเข้าใจในกระบวนการทางสังคม กระบวนการทางสังคม (Social Movement) นวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นในสังคม ทำให้กลุ่มคนในสังคมมีความสงสัย และมีการย้อนดูว่าสิ่งที่ดำเนินชีวิตมานั้น หรือวัฒนธรรมที่หากสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดประโยชน์ ก็จะมีการเปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนทัศนคติ เช่น การกำหนดวันหยุดการทำงาน หรือการสร้างแนวคิดใหม่ ของ คนหนุ่มสาวที่มีวิธีที่ผิดไปจากแบบแผนเดิม จะเกิดเป็น 6 พฤติกรรมใหม่ และจะกลายเป็นสถาบัน เป็นลักษณะ ของพฤติกรรมหมู่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบรรทัดฐานของสังคม วิถีทางเช่นนี้ คือพฤติกรรมหมู่ เกิดการ เปลี่ยนแปลงทางสังคมความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ( การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. ม.ป.ป.; เว็ปไซต์)
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ ' พออยู่พอกิน' และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้ ดังนี้
  '….ในการสร้างถนน สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้ และค้าขายได้…' ในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งเกิดความถดถอยทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงขึ้นนี้จึงทำให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนในแนวพระราชดำริของ 'เศรษฐกิจพอเพียง' ซึ่งได้ทรงคิดและตระหนักมาช้านาน เพราะหากเราไม่ไปพึ่งพา ยึดติดอยู่กับกระแสจากภายนอกมากเกินไป จนได้ครอบงำความคิดในลักษณะดั้งเดิมแบบไทยๆไปหมดมีแต่ความทะเยอทะยานบนรากฐานที่ไม่มั่นคงเหมือนลักษณะฟองสบู่ วิกฤตเศรษฐกิจเช่นนี้อาจไม่เกิดขึ้น หรือไม่หนักหนาสาหัสจนเกิดความเดือดร้อนกันถ้วนทั่วเช่นนี้ ดังนั้น 'เศรษฐกิจพอเพียง' จึงได้สื่อความหมาย ความสำคัญในฐานะเป็นหลักการสังคมที่พึงยึดถือ ในทางปฏิบัติจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงคือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น เศรษฐกิจพอเพียงเป็นทั้งหลักการและกระบวนการทางสังคม ตั้งแต่ขั้นฟื้นฟูและขยายเครือข่ายเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตและบริโภคอย่างพออยู่พอกินขึ้นไปถึงขั้นแปรรูปอุตสาหกรรมครัวเรือน สร้างอาชีพและทักษะวิชาการที่หลากหลายเกิดตลาดซื้อขาย สะสมทุน ฯลฯ บนพื้นฐานเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนนี้ เศรษฐกิจของ ชาติ จะพัฒนาขึ้นมาอย่างมั่นคงทั้งในด้านกำลังทุนและตลาดภายในประเทศ รวมทั้งเทคโนโลยีซึ่งจะค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาจากฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่ภายในชาติ และทั้งที่จะพึงคัดสรรเรียนรู้จากโลกภายนอก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจที่พอเพียงกับตัวเอง ทำให้อยู่ได้ ไม่ต้องเดือดร้อน มีสิ่งจำเป็นที่ทำได้โดยตัวเองไม่ต้องแข่งขันกับใคร และมีเหลือเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ไม่มี อันนำไปสู่การ แลกเปลี่ยนในชุมชน และขยายไปจนสามารถที่จะเป็นสินค้าส่งออก เศรษฐกิจพอเพียงเป็นเศรษฐกิจระบบเปิดที่เริ่มจากตนเองและความร่วมมือ วิธีการเช่นนี้จะดึงศักยภาพของ ประชากรออกมาสร้างความเข้มแข็งของครอบครัว ซึ่งมีความผู้พันกับ “จิตวิญญาณ” คือ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” ในระบบเศรษฐกิจพอเพียงจะจัดลำดับความสำคัญของ “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” มูลค่านั้นขาดจิตวิญญาณ เพราะเป็นเศรษฐกิจภาคการเงิน ที่เน้นที่จะตอบสนองต่อความต้องการที่ไม่จำกัดซึ่งไร้ขอบเขต ถ้าไม่สามารถควบคุมได้การใช้ทรัพยากรอย่างทำลายล้างจะรวดเร็วขึ้นและปัญหาจะตามมา เป็นการบริโภคที่ก่อให้เกิดความทุกข์หรือพาไปหาความทุกข์ และจะไม่มีโอกาสบรรลุวัตถุประสงค์ในการบริโภค ที่จะก่อให้ความพอใจและความสุข (Maximization of Satisfaction) ผู้บริโภคต้องใช้หลักขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain) อย่างนี้จะควบคุมความต้องการที่ไม่จำกัดได้ และสามารถจะลดความต้องการลงมาได้ ก่อให้เกิดความพอใจและความสุขเท่ากับได้ตระหนักในเรื่อง “คุณค่า” จะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้ ไม่ต้องไปหาวิธีทำลายทรัพยากรเพื่อให้เกิดรายได้มาจัดสรรสิ่งที่เป็น “ความอยากที่ไม่มีที่สิ้นสุด” และขจัดความสำคัญของ “เงิน” ในรูปรายได้ที่เป็นตัวกำหนดการบริโภคลงได้ระดับหนึ่ง แล้วยังเป็นตัวแปรที่ไปลดภาระของกลไกของตลาดและการพึ่งพิงกลไกของตลาด ซึ่งบุคคลโดยทั่วไปไม่สามารถจะควบคุมได้ รวมทั้งได้มีส่วนในการป้องกันการบริโภคเลียนแบบ (Demonstration Effects) จะไม่ทำให้เกิดการสูญเสีย จะทำให้ไม่เกิดการบริโภคเกิน (Over Consumption) ซึ่งก่อให้เกิดสภาพเศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน การบริโภคที่ฉลาดดังกล่าวจะช่วยป้องกันการขาดแคลน แม้จะไม่ร่ำรวยรวดเร็ว แต่ในยามปกติก็จะทำให้ร่ำรวยมากขึ้น ในยามทุกข์ภัยก็ไม่ขาดแคลน และสามารถจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยไม่ต้องหวังความช่วยเหลือจากผู้อื่นมากเกินไป เพราะฉะนั้นความพอมีพอกินจะสามารถอุ้มชูตัวได้ ทำให้เกิดความเข้มแข็ง และความพอเพียงนั้นไม่ได้หมายความว่า ทุกครอบครัวต้องผลิตอาหารของตัวเอง จะต้องทอผ้าใส่เอง แต่มีการแลกเปลี่ยนกันได้ระหว่างหมู่บ้าน เมือง และแม้กระทั่งระหว่างประเทศ ที่สำคัญคือการบริโภคนั้นจะทำให้เกิดความรู้ที่จะอยู่ร่วมกับระบบ รักธรรมชาติ ครอบครัวอบอุ่น ชุมชนเข้มแข็ง เพราะไม่ต้องทิ้งถิ่นไปหางานทำ เพื่อหารายได้มาเพื่อการบริโภคที่ไม่เพียงพอ ประเทศไทยอุดมไปด้วยทรัพยากรและยังมีพอสำหรับประชาชนไทยถ้ามีการจัดสรรที่ดี โดยยึด ' คุณค่า ' มากกว่า ' มูลค่า ' ยึดความสัมพันธ์ของ “บุคคล” กับ “ระบบ” และปรับความต้องการที่ไม่จำกัดลงมาให้ได้ตามหลักขาดทุนเพื่อกำไร และอาศัยความร่วมมือเพื่อให้เกิดครอบครัวที่  เข้มแข็งอันเป็นรากฐานที่สำคัญของระบบสังคม การผลิตจะเสียค่าใช้จ่ายลดลงถ้ารู้จักนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในขบวนการธรรมชาติมาปรุงแต่ง ตามแนวพระราชดำริในเรื่องต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วซึ่งสรุปเป็นคำพูดที่เหมาะสมตามที่ ฯพณฯ พลเอกเปรม ตินณสูลานนท์ ที่ว่า
“…ทรงปลูกแผ่นดิน ปลูกความสุข ปลดความทุกข์ของราษฎร” ในการผลิตนั้นจะต้องทำด้วยความรอบคอบไม่เห็นแก่ได้ จะต้องคิดถึงปัจจัยที่มีและประโยชน์ของผู้เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาอย่างเช่นบางคนมีโอกาสทำโครงการแต่ไม่ได้คำนึงว่าปัจจัยต่าง ๆ ไม่ครบ ปัจจัยหนึ่งคือขนาดของโรงงาน หรือเครื่องจักรที่สามารถที่จะปฏิบัติได้ แต่ข้อสำคัญที่สุด คือวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถที่จะให้ค่าตอบแทนวัตถุดิบแก่เกษตรกรที่เหมาะสม เกษตรกรก็จะไม่ผลิต ยิ่งถ้าใช้วัตถุดิบสำหรับใช้ในโรงงานั้น เป็นวัตถุดิบที่จะต้องนำมาจากระยะไกล หรือนำเข้าก็จะยิ่งยาก เพราะว่าวัตถุดิบที่นำเข้านั้นราคายิ่งแพง บางปีวัตถุดิบมีบริบูรณ์ ราคาอาจจะต่ำลงมา แต่เวลาจะขายสิ่งของที่ผลิตจากโรงงานก็ขายยากเหมือนกัน เพราะมีมากจึงทำให้ราคาตก หรือกรณีใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร เกษตรกรรู้ดีว่าเทคโนโลยีทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลผลิตที่เพิ่มนั้นจะล้นตลาด ขายได้ในราคาที่ลดลง ทำให้ขาดทุน ต้องเป็นหนี้สิน การผลิตตามทฤษฎีใหม่สามารถเป็นต้นแบบการคิดในการผลิตที่ดีได้ดังนี้
           1. การผลิตนั้นมุ่งใช้เป็นอาหารประจำวันของครอบครัว เพื่อให้มีพอเพียงในการบริโภคตลอดปีเพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันและเพื่อจำหน่าย
          2. การผลิตต้องอาศัยปัจจัยในการผลิต ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อม เช่น การเกษตรต้องมีน้ำ การจัดให้มีและดูแหล่งน้ำ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งการผลิต และประโยชน์ใช้สอยอื่น ๆ
         3. ปัจจัยประกอบอื่น ๆ ที่จะอำนวยให้การผลิตดำเนินไปด้วยดี และเกิดประโยชน์เชื่อมโยง (Linkage) ที่จะไปเสริมให้เกิดความยั่งยืนในการผลิต จะต้องร่วมมือกันทุกฝ่ายทั้ง เกษตรกร ธุรกิจ ภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเชื่อมโยงเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับเศรษฐกิจการค้า และให้ดำเนินกิจการควบคู่ไปด้วยกันได้ การผลิตจะต้องตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” การผลิตนั้นต้องยึดมั่นในเรื่องของ “คุณค่า” ให้มากกว่า “มูลค่า” ดังพระราชดำรัส ซึ่งได้นำเสนอมาก่อนหน้านี้ที่ว่า “…บารมีนั้น คือ ทำความดี เปรียบเทียบกับธนาคาร …ถ้าเราสะสมเงินให้มากเราก็สามารถที่จะใช้ดอกเบี้ย ใช้เงินที่เป็นดอกเบี้ย โดยไม่แตะต้องทุนแต่ถ้าเราใช้มากเกิดไป หรือเราไม่ระวัง เรากิน เข้าไปในทุน ทุนมันก็น้อยลง ๆ จนหมด …ไปเบิกเกินบัญชีเขาก็ต้องเอาเรื่อง ฟ้องเราให้ล้มละลาย เราอย่าไปเบิกเกินบารมีที่บ้านเมือง ที่ประเทศได้สร้างสมเอาไว้ตั้งแต่บรรพบุรุษของเราให้เกินไป เราต้องทำบ้าง หรือเพิ่มพูนให้ประเทศของเราปกติมีอนาคตที่มั่นคง บรรพบุรุษของเราแต่โบราณกาล ได้สร้างบ้านเมืองมาจนถึงเราแล้ว ในสมัยนี้ที่เรากำลังเสียขวัญ กลัว จะได้ไม่ต้องกลัวถ้าเราไม่รักษาไว้…
” การจัดสรรทรัพยากรมาใช้เพื่อการผลิตที่คำนึงถึง “คุณค่า” มากกว่า “มูลค่า” จะก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่าง “บุคคล” กับ “ระบบ” เป็นไปอย่างยั่งยืน ไม่ทำลายทั้งทุนสังคมและทุนเศรษฐกิจ นอกจากนี้จะต้องไม่ติดตำรา สร้างความรู้ รัก สามัคคี และความร่วมมือร่วมแรงใจ มองกาลไกลและมีระบบสนับสนุนที่เป็นไปได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริให้ประชาชนยอมรับไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยให้วงจรการพัฒนาดำเนินไปตามครรลองธรรมชาติ กล่าวคือ ทรงสร้างความตระหนักแก่ประชาชนให้รับรู้ (Awareness) ในทุกคราเมื่อ เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมประชาชนในทุกภูมิภาคต่าง ๆ จะทรงมีพระราชปฏิสันถารให้ประชาชนได้รับทราบถึงสิ่งที่ควรรู้ เช่น การปลูกหญ้าแฝกจะช่วยป้องกันดินพังทลาย และใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะช่วยประหยัดและบำรุงดิน การแก้ไขดินเปรี้ยวในภาคใต้สามารถกระทำได้ การ ตัดไม้ทำลายป่าจะทำให้ฝนแล้ง เป็นต้น ตัวอย่างพระราชดำรัสที่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนักให้แก่ประชาชน ได้แก่ “….ประเทศไทยนี้เป็นที่ที่เหมาะมากในการตั้งถิ่นฐาน แต่ว่าต้องรักษาไว้ ไม่ทำให้ประเทศไทยเป็นสวนเป็นนากลายเป็นทะเลทรายก็ป้องกันทำได้….” ทรงสร้างความสนใจแก่ประชาชน (Interest) หลายท่านคงได้ยินหรือรับฟัง โครงการอันเนื่อง มาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีนามเรียกขานแปลกหู ชวนฉงน น่าสนใจติดตามอยู่เสมอ เช่น โครงการแก้มลิง โครงการแกล้งดิน โครงการเส้นทางเกลือ โครงการน้ำดีไล่น้ำเสีย หรือโครงการน้ำสามรส ฯลฯ เหล่านี้ เป็นต้น ล้วนเชิญชวนให้ ติดตามอย่างใกล้ชิด แต่พระองค์ก็จะมีพระราชาธิบายแต่ละโครงการอย่างละเอียด เป็นที่เข้าใจง่ายรวดเร็วแก่ประชาชนทั้งประเทศ ในประการต่อมา ทรงให้เวลาในการประเมินค่าหรือประเมินผล (Evaluate) ด้วยการศึกษาหาข้อมูลต่าง ๆ ว่าโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์นั้นเป็นอย่างไร สามารถนำไปปฏิบัติได้ในส่วนของตนเองหรือไม่ ซึ่งยังคงยึดแนวทางที่ให้ประชาชนเลือกการพัฒนาด้วยตนเอง ที่ว่า “….ขอให้ถือว่าการงานที่จะทำนั้นต้องการเวลา เป็นงานที่มีผู้ดำเนินมาก่อนแล้ว ท่านเป็นผู้ที่จะเข้าไปเสริมกำลัง จึงต้องมีความอดทนที่จะเข้าไปร่วมมือกับผู้อื่น ต้องปรองดองกับเขาให้ได้ แม้เห็นว่ามีจุดหนึ่งจุดใดต้องแก้ไขปรับปรุงก็ต้องค่อยพยายามแก้ไขไปตามที่ถูกที่ควร….”
          ในขั้นทดลอง (Trial) เพื่อทดสอบว่างานในพระราชดำริที่ทรงแนะนำนั้นจะได้ผลหรือไม่ซึ่งในบางกรณีหากมีการทดลองไม่แน่ชัดก็ทรงมักจะมิให้เผยแพร่แก่ประชาชน หากมีผลการทดลองจนแน่พระราชหฤทัยแล้วจึงจะออกไปสู่สาธารณชนได้ เช่น   
    ทดลองปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำนั้น ได้มีการค้นคว้าหาความเหมาะสมและความเป็นไปได้จนทั่วทั้งประเทศว่าดียิ่งจึงนำออก  เผยแพร่แก่ประชาชนเป็นต้น ขั้นยอมรับ (Adoption) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น เมื่อผ่านกระบวนการมาหลายขั้นตอน บ่ม เพาะ และมีการทดลองมาเป็นเวลานาน ตลอดจนทรงให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริและสถานที่อื่น ๆ เป็นแหล่งสาธิตที่ประชาชนสามารถเข้าไปศึกษาดูได้ถึงตัวอย่างแห่งความสำเร็จ ดังนั้น แนวพระราชดำริของพระองค์จึงเป็นสิ่งที่ราษฎรสามารถพิสูจน์ได้ว่าจะได้รับผลดีต่อชีวิต และความเป็นอยู่ของตนได้อย่างไร แนวพระราชดำริทั้งหลายดังกล่าวข้างต้นนี้ แสดงถึงพระวิริยะอุตสาหะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทุ่มเทพระสติปัญญา ตรากตรำพระวรกาย เพื่อค้นคว้าหาแนวทางการพัฒนาให้พสกนิกรทั้งหลายได้มีความร่มเย็นเป็นสุขสถาพรยั่งยืนนาน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่ได้พระราชทานแก่ปวงไทยตลอดเวลามากกว่า 50 ปี จึงกล่าวได้ว่าพระราชกรณียกิจของพระองค์นั้นสมควรอย่างยิ่งที่ทวยราษฎรจักได้เจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท ตามที่ทรงแนะนำ สั่งสอน อบรมและวางแนวทางไว้เพื่อให้เกิดการอยู่ดีมีสุขโดยถ้วนเช่นกันโดยการพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขึ้นตอนต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้นก่อน โดยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตาหลักวิชาการ เพื่อได้พื้นฐานที่มั่นคงพร้อมพอสมควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริม ความเจริญ และฐานะทางเศรษฐกิจขึ้นที่สูงขึ้นไปตามลำดับ จะก่อให้เกิดความยั่งยืนและจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของครอบครัว ชุมชน และสังคมสุดท้ายเศรษฐกิจดีสังคมไม่มีปัญหาการพัฒนายั่งยืน
   ประการที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง
     1. พอมีพอกิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือนเหลือจึงขายไป
     2. พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ (ใช้ จุลินทรีผสมน้ำถูพื้นบ้าน จะสะอาดกว่าใช้น้ำยาเคมี) รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น (ประหยัดค่ารักษาพยาบาล)
    3. พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตน ไม่ใคร่อยากใคร่มีเช่นผู้อื่น เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ ปัญญาจะไม่เกิด '
  การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกิน หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง ' (สุเมธ ตันติเวชกุล.2544.284-291)  การวิเคราะห์หาหลักการและแนวคิดของในหลวงด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จากโครงการเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลายโครงการในพระราชดำริ จะเห็นได้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ชั้นเยี่ยมโดยได้ทรงพัฒนาให้ประชาราษฏรได้มีความรู้ “ เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางแก้ไข เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
        ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควร ต่อการมีผลกระทบใดๆอันเกิดจาการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆมาใช้ในการวางแผน และดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับ ให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์ สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทนความพากเพียรมีสติปัญญาและความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงงานหนัก ทรงบริโภคน้อย ทรงใช้น้อย เพื่อสร้างแบบอย่างที่ดีให้พสกนิกรไทยได้เห็นเป็นตัวอย่าง พระองค์ทรงสอนให้ราษฎรมีคุณธรรม จริยธรรม ทรงสอนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจ พอใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตอย่างพอดีพอประมาณ สมดุลไม่สุดโด่ง และสร้างภูมิคุ้มกันภัยต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม เศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่านไม่ใช่สอนให้เอาเงินตัวตั้งไม่ใช่แค่เรื่องการค้าขาย เรื่องการทำมาหากิน หรือเรื่องตัวเลขทางเศรษฐกิจ เศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ ไม่ใช่สอนให้คนหยุดพัฒนาหยุดกระตือรือร้น หยุดรับความรู้และเทคโนโลยี ตรงกันข้าม เศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน คือการสอนให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกองค์กรให้อยู่ในโลกทำภารกิจอย่างพอดี รู้ประมาณ สมเหตุสมผล ไม่โลภเกินพอดี กล้าเผชิญกับโลกปัจจุบันอย่างใช้ปัญญา เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันตัวเอง ครอบครัว และสังคม พระองค์ท่านจึงเป็นหลักที่ทุกคน ทุกครอบครัว และทุกสังคม สามารถ น้อมนำไปปฏิบัติ ด้วยการรู้จักทวนกระแสกิเลส อันเป็นต้นธารแห่งความโลภที่ไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเอง “...ผู้มีความจงรักและยึดมั่นในชาติบ้านเมือง ย่อมทราบตระหนักอยู่ทั่วหน้ากันว่า แต่ไหนแต่ไรมา คนไทยเราร่วมกันสร้างความเจริญมั่นคงทุกๆอย่างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรง เพราะฉะนั้นไม่ว่าเวลานี้หรือเวลาไหน เราก็คงจะต้องช่วยตัวเองต่อไปด้วยกำลังแรง กำลังทรัพย์ของเรา ทุกวันนี้ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญเราจะรู้จักใช้ทรัพยากรทั้งนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้สิ้นเปลืองไปโดยไร้ประโยชน์หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่ระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามเกิดแก่ประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว...”
      การพึ่งตนเองนั้น ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ การอนุรักษ์และการพัฒนาทรัพยากรอย่างชาญฉลาดรวมทั้งการดำเนินงานอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นปรัชญาสำคัญทรงใช้เป็นแนวทางการพัฒนาจนบังเกิดประสิทธิผลสูงสุด( โชติ ศรีสุวรรณ.2550. 94-100.) การนำหลักการและแนวคิดมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในองค์การ 'เศรษฐกิจพอเพียง' ปรัชญาของในหลวง กับการบริหารคนหลายคนมองว่าปรัชญาเรื่อง “ความพอเพียง” และเศรษฐกิจพอเพียงนั้น ดูจะเป็นเรื่องสวนทางและไม่สามารถไปกันได้ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นทุกวันนี้ หากในความเป็นจริง ถ้าลองได้วิเคราะห์ดูอย่างละเอียดแล้ว ความพอเพียงนั้นสามารถนำมาใช้ในการบริหารดำเนินงานได้ในทุกส่วนขององค์กร แม้แต่ในเรื่องการ “บริหารคน” เพราะขนาดองค์กรยักษ์ใหญ่ระดับชาติ อย่างเครือซิเมนต์ไทย ยังขานรับว่าสามารถนำหลักปรัชญาดังกล่าวมาใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยเฉพาะด้านการพัฒนาบุคลากรของตนเองได้และค่อนข้างประสบความสำเร็จด้วยซ้ำ นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาบุคลากรแบบพอเพียงนั้นเป็นไปได้จริงๆ ความพอเพียงกับ HR สามารถไปด้วยกันได้อย่างไร การที่จะปรับประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เหมาะสถานการณ์และสำคัญที่ “กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของคนที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย” โดยมีความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญ เมื่อนำกลับมาวิเคราะห์ใช้กับองค์กรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาบุคลากรล้วนต่างให้ความสำคัญต่อความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกัน ทั้ง 2 แนวทางต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสำคัญเรื่องความมั่นคงของมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญ และยังส่งเสริมให้มีการพัฒนาบุคลากรเต็มที่ตามศักยภาพของ  ตน โดยการดำเนินงานตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้เกิดผลสำเร็จ จะต้องอาศัยหลักการสำคัญ 3 ประการ ในการประเมินความเป็นไปได้ต่างๆ และการตัดสินใจ ดังนี้คือ พอประมาณ คือ ความพอดี ไม่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป หมายถึงการรู้จักให้โอกาสแก่บุคคลในองค์กร ในสิ่งที่สมควรได้ หรือตามความสามารถของพนักงานอย่างแท้จริง และรู้จักให้บุคลากรมีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาตนเองด้วยตนเองด้วย เพื่อให้บุคลากรสามารถพึ่งตนเองได้ด้วยเช่นกัน มีเหตุผล การคำนึงเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ การใช้เหตุผลในการบริหารคน และการตัดสินใจต่างๆ อย่างรอบคอบมากกว่าใช้อารมณ์ส่วนตัว และเป็นธรรม มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีเป็นการเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้น ในทางดีหรือร้าย แต่ก็ยังคงสามารถรักษามาตรฐานความเป็นกลางในการบริหารคนเอาไว้ได้ อีกสิ่งหนึ่งที่สามารถนำหลักปรัชญาพอเพียง มาปฏิบัติกับการบริหารบุคลากรได้ คือการให้คุณค่ากับบุคลากร และทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นร่วมกันและเท่าเทียมกัน ซึ่งทั้ง 2 แนวคิดมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคนบนฐานความเชื่อว่า การพัฒนาหมายถึง กระบวนการที่ช่วยให้คนมีโอกาสในการที่จะปรับปรุงตนเอง และพัฒนาศักยภาพให้สามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์ มีเสรีภาพและมีศักดิ์ศรี ที่สำคัญ ความพอเพียง” นั้นคือความพอดี ซึ่งมีความเชื่อว่าการพัฒนาต้องมีความยั่งยืน เสมอภาค เคารพธรรมชาติและใช้ทรัพยากรธรรมชาติด้วยความระมัดระวัง ไม่มากหรือน้อยจนเกินไปในทุกเรื่องและมุ่งหวังประโยชน์ระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ซึ่งข้อดีของการนำแนวคิดแบบพอเพียงมาใช้กับการบริหารคน ถือเป็นการให้ความพอดีทั้งกับองค์กรและตัวของบุคลากร เอง ( JobsDB.com .ม.ป.ป; เว็บไซต์) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์เป็นบุคคลหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นนักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ชั้นเยี่ยมของโลก โดยได้รับการยอมรับและประจักษ์ในผลงานทราบกันทั่วไป ซึ่งในปี พ.ศ. 2549 โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Development Programme : UNDP ) โดยนายโคฟี อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติจะได้กราบบังคมทูลพระกรุณาสดุดีเฉลิมพระเกียรติคูณ และ ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ( UNDP Human Development Lifetime Achievement Award ) แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเทิดพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี 14 รางวัลด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (UNDP Awards For Human Development ) เป็นรางวัลเกียรติยศ ด้านการพัฒนาของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ โดยจะมอบแก่ National Human development Report ที่มีผลงานดีเด่นทุก 2 ปี โดยแบ่งประเภทต่างๆ รวม 6 ประเภท สำหรับรางวัลเกียรติยศที่จะทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าหัวอยู่นั้น เป็นความคิดริเริ่มของสำนักเลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งเป็นกรณีพิเศษที่มอบแก่บุคคลอันเป็นรางวัลประเภท Life – long achievement ที่ริเริ่มขึ้นใหม่ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเป็นพระองค์แรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว (ผู้จัดการออนไลน์.2549:เว็บไซต์) 
       เศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนามนุษย์ที่เป็นธรรมชาติโดย เน้นที่มนุษย์เป็นศูนย์กลางเน้นการกินอยู่ดีมากกว่าทรัพย์สมบัติ การสร้างความยั่งยืนเป็นแก่นของแนวคิดหรือปรัชญา เข้าใจถึงความจำเป็นเพื่อความปลอดภัย มุ่งถึงการสร้างความสามารถของบุคคลเพื่อพัฒนาศักยภาพของเขาเอง เน้นจุดสำคัญที่จะพัฒนาจิตวิญญาณ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการพัฒนาทุก ๆ อย่าง เศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นตัวชี้นำในการตัดสินใจ ที่จะนำมาใช้ในแต่ละสาขาหน่วยงานของรัฐบาล ที่มีความผูกพันอยู่กับการใช้ทรัพยากรการพัฒนา และเป็นแนวนำส่วนบุคคลถึงวิธีการตัดสินใจซึ่งจะทำให้ประสบผลคือความยั่งยืน สุขภาพ ยาวนาน การเรียนรู้ สร้างพลัง การเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุข

 ******************************************
อ้างอิง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์. ม.ป.ป.[สืบค้น 2 พ.ย.2552.] [1หน้า] เข้าถึงได้ที่ http://dnfe5.nfe.go.th/ilp/soc5/so31-5-2.htm โชติ ศรีสุวรรณ.ในหลวงของปวงไทย.กรุงเทพฯ:บริษัทเยลโล่(1988)จำกัด.2550. ผู้จัดการออนไลน์. เลขาฯยูเอ็นถวายสดุดีในหลวง 'กษัตริย์นักพัฒนา'ที่โลกยกย่อง. 2549; [สืบค้น 2 พ.ย.2552.] [1หน้า] เข้าถึงได้ที่ http://tnews.teenee.com/politic/2265.html. วรนุช อุษณกร, ในหลวงกับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์) 2540. สุเมธ ตันติเวชกุล. “ เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในใต้เบื้องพระยุคลบาท. พิมพ์ครั้งที่ 6 . กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน. 2544. 284-291 สุนทร กุลวัฒนวรพงศ์ (เรียบเรียง) ตามรอยพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง-ทฤษฎีใหม่ (กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก) 2544. JobsDB.com . เศรษฐกิจพอเพียง' ปรัชญาของในหลวง กับการบริหารคน ม.ป.ป.[สืบค้น 2 พ.ย. 2552.] [1หน้า] เข้าถึงได้ที่ http://www.thaijobcenter.com/id_board.php?qid=528


รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

0
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


krusunsanee
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ภาษาไทย


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.561712 sec.