ไลเคนตัวชี้วัดคุณภาพอากาศทางชีวภาพ
ปัจจุบันมีหลายบริษัทผลิตเครื่องตรวจวัดดุณภาพอากาศออกมาขายเป็นจำนวนมากซึ่งแต่ละเครื่องล้วนแต่มีราคาแพง แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่าเราสามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ด้วยตนเอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องราคาแพง เพียงแค่รู้จักสิ่งมีชีวิตที่ชื่อว่า ไลเคน เท่านั้น
ไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่เกิดจากการอยู่ร่วมกันแบบพึ่งพาอาศัยกันของสิ่งมีชีวิต 2 ชนิดคือเห็ดราและสาหร่าย โดยเห็ดราจะใช้ความชื้นและก๊าซออกซิเจนจากสาหร่ายในการดำรงชีวิต ส่วนของสาหร่ายจะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ผลิตจากเห็ดราในการสังเคราะห์แสง โดยทั่วไปไลเคนที่ขึ้นตามธรรมชาติมี 4 รูปแบบด้วยกันดังนี้ [1]
- 1.ครัสโตส (crustose) ลักษณะเป็นแผ่นแข็งติดอยู่บนต้นไม้
- 2.สแควมูโลส (squamulose) ลักษณะเป็นเม็ดคล้ายลูกหิน ติดแน่นอยู่กับต้นไม้
- 3.โฟลิโอส (foliose) ลักษณะคล้ายใบไม้ ไม่ติดแน่น
- 4.ฟรูทิโคส (fruticose) ลักษณะเป็นเส้นหรือแตกกิ่งก้านคล้ายต้นไม้
ตัวชี้วัดอากาศทางธรรมชาติ ไลเคนสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพทางอากาศ [2] และจากงานวิจัยของ Writh [3] พบว่าไลเคนเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความไวต่อมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซฟลูออไรด์ (Fluorides) และสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นสารออกซิไดซ์สูงเช่น โอโซนและไลเคนแต่ละชนิดมีความทนทานต่อมลพิษทางอากาศไม่เท่ากัน ซึ่งทำให้เราสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศได้ในเบื้องต้นหากบริเวณสถานที่ที่เราอาศัยเช่น ต้นไม้ แผ่นหิน แผ่นไม้ เป็นต้นมีไลเคนเกิดขึ้น [4] ซึ่งแบ่งประเภทลักษณะการเกิดขึ้นของไลเคนตามธรรมชาติที่ทนทานต่อระดับมลภาวะไม่เท่ากันได้ 3 กลุ่มคือ อากาศดี ทนทาน และทนทานสูง แสดงดังรูปที่ 1
รูปที่ 1 กลุ่มของไลเคนที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ, ที่มาของภาพ: นักสืบสายลม, สำรวจไลเคน, ตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศใน กทม, [5]
พบว่าไลเคน กลุ่มอากาศดีในปัจจุบันได้หายไปจากกรุงเทพมหานครนานแล้ว [5] นอกจากนี้มูลนิธิโลกสีเขียวได้ใช้จุดเด่นของไลเคนในการสำรวจอากาศในกรุงเทพมหานครใน ปีพ.ศ. 2553 โดยกลุ่มนักสืบสายลมซึ่งเป็นอาสาสมัครนักเรียนตามโรงเรียนต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานครที่มีผ่านการฝึกฝนจำแนกชนิดของไลเคนจนชำนาญ การสำรวจสังคมไลเคน หากพบกลุ่มไหนมากก็จะบ่งบอกถึงคุณภาพอากาศบริเวณนั้นๆ ผลการสำรวจพื้นที่ทั่วกรุงเทพมหานครและพื้นที่ใกล้เคียง 214 จุดในช่วงเดือนกันยายน 2552 ถึงพฤษภาคม 2553 แสดงผลการสำรวจดังรูปที่ 2 จากการสำรวจพบว่าคุณภาพอากาศในพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ ประมาณครึ่งหนึ่งมีคุณภาพอากาศที่แย่ถึงแย่มาก โดยเฉพาะพื้นที่ในกลางเมือง ถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่นและพื้นที่ที่เป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม [6]
รูปที่ 2 แผนที่แสดงผลการสำรวจไลเคน โดยเครือข่ายนักสืบสายลม, มูลนิธิโลกสีเขียว [6] และคลิกขยายใหญ่เพื่อดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/642 จากงานวิจัยของ Paolo Giordani [7] ซึ่งทำการวิจัยความหลากหลายของไลเคนกับตัวชี้วัดคุณภาพอากาศใน Genova Province ประเทศอิตาลี พบว่าค่าความหลากหลายของไลเคน (Lichen Diversity Value) มีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย (Yearly average rainfal) ต่อปีเพิ่มขึ้นและมีค่าลดลงเมื่อปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนนอกไซด์เพิ่มชึ้น ซึ่งแสดงว่าไลเคนสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศได้ในเบื้องต้น
รูปที่ 3 ค่าความหลากหลายของไลเคน (Lichen Diversity Value) (a) เทียบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย (Yearly average rainfal) ต่อปี, (b) เทียบกับปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และ (c) เทียบกับปริมาณไนโตรเจนนอกไซด์ ที่มาของภาพ: งานวิจัยของ Paolo Giordani [7]
อ้างอิง 1.ไลเคน, http://th.wikipedia.org/wiki 2.Nimis, P.L., Purvis, W.O., 2002. Monitoring lichens as indicators of pollution. An introduction. In: Nimis, P.L., Scheidegger, C., Wolseley, P. (Eds.), Monitoring with Lichens e Monitoring Lichens. Kluwer, Dordrecht, 7-10. 3.Wirth, V., 1988. Phytosociological approaches to Air Pollution Monitoring with Lichens. In: Nash III, T.H., Wirth, V. (Eds.), Lichens,Bryophytes and Air Quality. Bibl. Lichenol. J. Cramer in der Gebr. Borntraeger Verlagsbuchhandlg., Berlin-Stuttgart, 30: 91–107. 4.http://onopen.com/vanchaitan/10-06-17/5412 5.นักสืบสายลม, สำรวจไลเคน, ตัวบ่งชี้คุณภาพอากาศใน กทม, http://www.thaieeforum.com/images/Download/spy-wind.pdf 6.มูลนิธิโลกสีเขียว, ข่าวสิ่งแวดล้อม, เรื่องในประเทศ, http://www.greenworld.or.th/greenworld/local/642 7.Paolo Giordani, 2007, Is the diversity of epiphytic lichens a reliable indicator of air pollution? A case study from Italy, Environmental Pollution, 146: 317-323
รูปภาพที่เกี่ยวข้อง
|
ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?
|
สถานะ : ผู้ใช้ลงทะเบียน
วิทยาศาสตร์
|
|
|