KRUPUY Article


วันภาษาไทยแห่งชาติ


“ ภาษาไทย ” เป็นภาษาที่มีการจัดวางระเบียบแบบแผนไว้อย่างประณีตบรรจง มีอลังการแห่งศิลปะของการผสมผสานเรียงร้อยถ้อยคำให้เป็นท่วงทำนองที่ไพเราะและเหมาะสมอย่างยิ่ง ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาติ สมควรจะได้รับการทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ไว้ให้ยั่งยืนตลอดไป จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านช่วยกันธำรงรักษา “ ภาษาไทย ” ที่น่าภาคภูมิใจของเรา ให้เป็นสมบัติอันล้ำค่าสืบทอดต่อไปยังอนุชนรุ่นหลังอย่างถูกต้องและงดงามตลอดไป

ทำไมจึงได้กำหนดให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ”เพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ทรงเปิดการอภิปรายในหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปรายอย่างดีเยี่ยม แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทย เป็นที่ประทับใจผู้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว และในโอกาสต่อๆ มาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส เช่น ได้พระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ภาษาไทยของประชาชนชาวไทยในปัจจุบัน ในวโรกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชการและองค์กรเอกชนเข้าเฝ้าถวายชัยมงคล เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา พุทธศักราช ๒๕๓๕ นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ำให้ประชาชนชาวไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทยและพระราชทานแนวความคิดในการอนุรักษ์ภาษาไทยในโอกาสต่างๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ คือ เป็นที่ประจักษ์ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทยทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหะวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่าเป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่องนายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้นๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์ เรื่อง พระมหาชนก นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมที่สุดมิได้แก่วงการ

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๔๒ เห็นชอบให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ


วัตถุประสงค์

๑. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์ และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใยและพระราชทานแนวคิดต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย

๒. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ในวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒

๓. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

๔. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับให้มีสัมฤทธิผลยิ่งขึ้น

๕. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่างๆ ไปสู่สาธารณชนทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ


ประโยชน์ที่ได้รับจากการมี “ วันภาษาไทยแห่งชาติ ”

๑. การมี “วันภาษาไทยแห่งชาติ” จะทำให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ “ภาษาประจำชาติ” ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ

๒. บุคคลในวงวิชาชีพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษา และวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ

๓. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

 

วัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมภาษาไทย
๑. กล่าวคำว่า ' สวัสดี ' เมื่อแรกพบและจากกัน
๒. กล่าวคำว่า ' ขอบคุณ 'เมื่อได้รับความอนุเคราะห์จากผู้อื่น
๓. กล่าวคำว่า' ขอโทษ 'เมื่อทำผิดพลาดหรือล่วงเกิน
๔. ไม่ควรพูดคำหยาบ ลามก อนาจาร
๕. รู้จักใช้ภาษาพูดและภาษาเขียนให้เหมาะแก่ชั้นของบุคคลที่จะพูดด้วย เช่น พระสงฆ์ เจ้านาย ผู้ใหญ่ที่นับถือ ผู้มีเกียรติ ฯลฯ ๖. เขียนหนังสือให้ถูกต้องตามพจนานุกรมของทางราชการ เพื่อให้การเขียนหนังสือภาษาไทย เป็นแบบเดียวกัน

 

การที่คนไทยเรา พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยเป็นประจำทุกวันจนเกิดความเคยชิน อาจจะทำให้หลายๆคนไม่รู้สึกว่า “ ภาษาไทย ” มีความสำคัญแค่ไหน และมีคุณค่าเพียงไร หากจะเปรียบก็คงเหมือนกับ “ อากาศ ” ที่เราหายใจเข้าหายใจออกอยู่ตลอดเวลา จนเราแทบไม่รู้ค่า ว่าหากขาดอากาศเมื่อไร เราก็ตายเมื่อนั้น ถึงแม้ว่า “ ภาษาไทย ” จะไม่เหมือนอากาศที่ทำให้เราถึงกับตาย แต่ถ้าหากชาติไทยเราขาด “ ภาษาไทย ” เมื่อไร นั่นก็หมายความว่า “ ความเป็นชาติ ” ส่วนหนึ่งก็สูญสิ้นไปด้วย

 

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ได้มีพระราชนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า “ ภาษาเป็นเครื่องผูกพันมนุษย์ต่อมนุษย์แน่นแฟ้นยิ่งกว่าสิ่งอื่น และไม่มีสิ่งไรที่จะทำให้คนรู้สึกเป็นพวกเดียวกันแน่นอนยิ่งไปกว่าพูดภาษาเดียวกัน ” คนไทยเราแม้จะต่างเผ่าพันธุ์ ต่างเชื้อชาติ ต่างท้องถิ่น หรือต่างศาสนา แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต่างพูด “ ภาษาไทย ” ทุกคนย่อมรู้สึกได้ทันทีถึงความเป็นพวกเดียวกัน ความเป็นชาติเดียวกัน ดังนั้น “ ภาษา ” จึงเป็นสิ่งที่จะร้อยรัด และ ผูกพันคนในชาติให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งหากอาศัยอยู่ในต่างประเทศ หรือแม้แต่ไปเที่ยว ถ้าได้ยินใครก็ตามพูด “ ภาษาไทย ” ขึ้นมา เชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะเกิดความรู้สึกยินดีว่าเจอพวกเดียวกันแล้ว เจอคนไทยด้วยกันแล้ว

 

การที่ “ ภาษา ” เป็นสิ่งสำคัญก็เพราะว่า ภาษาเป็นสื่อเสียงและสื่อสัญลักษณ์ของมนุษยชาติที่เกิดจากการสร้างสรรค์ และสั่งสมของบรรพบุรุษสืบทอดมาสู่ลูกหลาน เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในชาตินั้นๆติดต่อสื่อสารซึ่งกันและกันได้ และเป็นเหตุให้วัฒนธรรมในด้านอื่นๆเจริญขึ้นด้วย หากไม่มี “ ภาษา ” มนุษย์ก็คงไม่สามารถสืบทอดวิชาการความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง และไม่อาจพัฒนาหรือรักษา “ ความเป็นชาติ ” ของตนไว้ได้ “ ภาษา ” จึงเป็นสมบัติทางวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งของแต่ละชาติ

 

อาจารย์จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิตยสถาน ได้เคยเขียนคำนำในหนังสือ “ ภาษาของเรา ” ตอนหนึ่งว่า “ ในฐานะที่คนไทยเรา เป็นชาติที่มีวัฒนธรรมของตนเองมานับเป็นเวลาพันๆปี เรามีภาษาพูด ภาษาเขียน และเลขของเราใช้โดยเฉพาะ ซึ่งแม้แต่ชาติที่เจริญหรือเป็นมหาอำนาจอื่นๆบางชาติก็หามีครบอย่างเราไม่ บางชาติอาจจะมีแต่ภาษาพูด ขาดภาษาเขียน หรือบางชาติมีภาษาเขียน มีตัวหนังสือของตัวเอง แต่ขาดเลข ต้องขอยืมของชาติอื่นเขามาใช้ จึงนับว่าเป็นสิ่งที่เราน่าจะภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้น เราจึงควรที่จะช่วยกันรักษาและส่งเสริมวัฒนธรรมในด้านภาษาของเราให้ยืนยงต่อไปตลอดกาล ชาติที่เป็นมหาอำนาจทางอาวุธ แต่ขาดอำนาจในทางวัฒนธรรมนั้น แม้จะเป็นผู้พิชิตทางด้านการทหาร ก็จะถูกพิชิตทางด้านวัฒนธรรม อย่างพวกตาดมองโกลที่พิชิตเมืองจีนแล้วตั้งราชวงศ์หงวนขึ้นมาครองจีน ในที่สุดก็ถูกพวกจีนที่มีวัฒนธรรมสูงกว่ากลืนชาติหมด.....วัฒนธรรมจึงนับว่าสำคัญยิ่งในอันที่จะพิชิตใจคน การพิชิตทางกายนั้นอาจกลับถูกพิชิตได้ง่าย แต่ การพิชิตทางด้านวัฒนธรรมนั้นเป็นการพิชิตทางด้านจิตใจ จึงเป็นการพิชิตที่นุ่มนวล เป็นการพิชิตที่ผู้ถูกพิชิตยอมสมัครใจให้พิชิต วัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของไทย และเป็นวัฒนธรรมไทยแท้ๆก็คือ ภาษา ซึ่งแม้ต่อมา จะมีภาษาอื่นมาปะปนอยู่บ้าง แต่ก็เป็นภาษาที่ถูกเรากลืนให้เป็นไทยหมดแล้วทั้งนั้น จึงนับว่าเป็นภาษาไทยโดยแท้ ”

 

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าเสียดายว่า ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา นอกจากจะทำให้วิถีชีวิตของประชาชนคนไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายแล้ว อิทธิพลของกระแสวัฒนธรรมต่างชาติที่หลั่งไหลเข้าสู่สังคมไทยอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเทคนิคการสื่อสารสมัยใหม่ ยังมีส่วนทำให้ “ ภาษาไทย ” ที่ใช้ในปัจจุบันทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนอยู่ในสภาวะเสื่อมโทรมลงอย่างน่าเป็นห่วง เนื่องจากคนไทยเองได้ละเลยต่อความสำคัญในการใช้ภาษาไทย และมีการใช้ภาษาที่ผิดเพี้ยนในการสื่อสารมากขึ้นทุกที จนเป็นที่น่าวิตกว่า หากไม่รีบช่วยกันแก้ไข นานไปเอกลักษณ์และคุณค่าของภาษาไทยอาจสูญหายไปจนหมดสิ้น

 

พระราชดำรัสในครั้งนั้น ตอนหนึ่งความว่า “ เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ ...... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก ...” นอกจากนี้ยังมีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม ๒๕๑๒ ความว่า “ ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะตัองรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษา ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ ”



รูปภาพที่เกี่ยวข้อง

Size : 8.30 KBs
Upload : 2012-11-22 22:35:38
ติชม

กำลังแสดงหน้า 1/0
<<
1
>>

ต้องการให้คะแนนบทความนี้่ ?

1
คะแนนโหวด
สร้างโดย :


KRUPUY
รายละเอียด Share
สถานะ : ผู้ใช้ทั่วไป
ภาษาไทย


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.094730 sec.