tassanee


ความมีน้ำใจ




การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความมีน้ำใจไมตรีที่ดีต่อกัน ความมีน้ำใจเป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้ โดยไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย เพียงแต่แสดงความเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ โดยการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ก็เป็นการแสดงน้ำใจได้ เช่น การพาเด็กหรือ ผู้สูงอายุข้ามถนน หรือการสละที่นั่งบนรถโดยสารให้หญิงมีครรภ์ หรือแม้แต่การมีส่วนร่วมช่วยกันพัฒนาสังคมของเราให้ดีขึ้นก็ได้ เป็นต้น ก็นับว่าเป็นการแสดงน้ำใจ การแสดงความมีน้ำใจจึงไม่ได้วัดกันด้วยเงินทอง บางคนมีเงินมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเป็นคนมีน้ำใจ เพราะเขาอาจแล้งน้ำใจก็ได้ บางคนเป็นเศรษฐีแต่มีความตระหนี่มากไม่ยอมแม้จะสละเงินให้ผู้อื่นโดยที่ตนไม่ได้รับประโยชน์ตอบแทน ถึงกระนั้นคนที่ไม่ได้มีเงินมากเพียงแค่พอมีพอกินอาจเป็นคนที่พอมีน้ำใจให้คนอื่นบ้างก็ย่อมเป็นที่รัก และที่ชื่นชมของผู้อื่นเสมอ

 

ความมีน้ำใจนั้น ตรงกันข้ามความเห็นแก่ตัว ขณะที่คนเห็นแก่ตัวมักจะคิดแต่ประโยชน์ส่วนตัวมาก่อน แต่แน่นอนที่คนมีน้ำใจจะคิดถึงประโยชน์ของส่วนรวมบ้าง และความมีน้ำใจก็ยังตรงกันข้ามกับความอิจฉาริษยา คนที่อิจฉาริษยาคนอื่นย่อมปรารถนาที่จะเห็นความ   ล้มเหลวของผู้ที่ได้ดีกว่า แต่คนมีน้ำใจนั้น เมื่อเห็นคนอื่นได้ดีกว่าจะมีมุทิตา และจะแสดงความยินดีด้วยอย่างจริงใจ ผู้มีน้ำใจจะนึกถึง    ผู้อื่น และจะพยายามช่วยผู้อื่นที่ด้อยโอกาสกว่า ผู้มีน้ำใจจึงเป็นที่รักและต้องการของคนทั่วไป และเป็นคนมีคุณค่าต่อสังคม และที่สำคัญพวกเขาเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตอย่างแน่นอน

ก็อย่างที่กล่าวไว้ ความมีน้ำใจจะไม่สามารถเกิดขึ้นในสังคมได้เลย หากไม่มีผู้ใดแสดงหรือกระทำมันขึ้นมา ซึ่งถ้าหากเราอยากที่จะเป็นบุคคลนั้น บุคคลที่จะสร้างความมีน้ำใจให้แก่สังคม บุคคลที่ปรารถนาอยากให้สังคมของตนเองและผู้อื่นมีความสุขนั้น ทำได้ไม่อยากเลย มันอยู่ที่ความคิด ความรู้สึก และหัวใจของเราเองเท่านั้น ที่จะสั่งให้ตัวเองลงมือทำ เราอาจฝึกฝนตนเองให้เป็นคนมีน้ำใจได้ ดังนี้

1. ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา คิดถึงหัวจิตหัวใจของคนอื่น และแสดงต่อผู้อื่นเหมือนที่เราต้องการให้คนอื่นแสดงต่อเรา และทำดีต่อคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน ไม่ว่าความดีนั้นจะเป็นเพียงสิ่งเล็กน้อยหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็ตาม แม้ผู้อื่นไม่ได้รับรู้กันทุกคน แต่หัวใจของเราก็รับรู้เสมอ 2. ควรเป็นผู้ให้มากกว่าผู้รับ และไม่หวังว่าคนอื่นจะต้องมาให้เราเสมอ 3. ควรแสดงน้ำใจกับคนรอบข้าง เช่น เมื่อเวลามีโอกาสได้ไปเที่ยวในที่ไกลหรือใกล้ก็ตามควรมีของฝากเล็กๆน้อยๆติดมือมาถึงคนที่เรารู้จักและญาติมิตรของเรา นั่นเป็นการแสดงความมีน้ำใจต่อกัน เพราะแม้อาจจะเป็นแค่สิ่งเล็กน้อย แม้จะไม่ต้องใช้เงินทองมากมาย แต่สิ่งที่ได้มันมีค่ามากกว่านั้น นั่นคือน้ำใจที่ผู้อื่นได้รับจากเรา 4. ควรเสียสละกำลังทรัพย์ สติปัญญา กำลังกาย และเวลาให้แก่ผู้เดือดร้อน เท่าที่เราพอจะทำได้โดยไม่ถึงกับต้องลำบากแก่ผู้อื่นให้กับผู้ที่ต้องการพึ่งพาอาศัยเรา โดยเป็นการกระทำที่ไม่หวังผลตอบแทน 5. ควรมีนิสัยเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อเพื่อนบ้าน เช่น ไปร่วมงานพิธีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานศพ หรืองานอื่นๆ เท่านั้นเขาก็จะเห็นว่าเราเป็นคนมีน้ำใจ และจะสามารถเชื่อมไมตรีจิตต่อกันได้ 6. ควรให้ความรักแก่คนอื่นๆ และให้ความร่วมมือเมื่อเขาต้องการให้ช่วยเหลือ และช่วยเหลือเขาอย่างสุดความสามารถด้วยความจริงใจที่เรามี

การฝึกฝนตนเองให้เป็นคนมีน้ำใจ นอกจากจะทำให้เรามีจิตใจที่ดีงามเบิกบานแจ่มใส ผิวพรรณผ่องใส ใบหน้าอิ่มเอิบแล้วยังทำให้เราได้มิตรสหายมาก ใครก็อยากคบหาสมาคมด้วยเพราะความมีน้ำใจแสดงถึงความมีเมตตากรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ แล้วชีวิตของเราจะพบแต่ความสุขตลอดไป เพราะสังคมของเราจะเป็นสังคมแห่งความสันติสุข

น้ำใจ


Reference: https://truecareers.wordpress.com/2014/05/14/048/



โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.005746 sec.